วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เค้กเนยสด

"เค้กเนยสด" 
ส่วนผสม
แป้งเค้ก 170 กรัม
ไข่ไก่ 3 ฟอง
เนยสด (รสเค็ม) 150 กรัม
น้ำตาลป่น 170 กรัม
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
ผงฟู 2 ช้อนชา
นมสด 100 ml.
วนิลา 2 ช้อนชา
วิธีทำ
ร่อนแป้ง + ผงฟู เข้าด้วยกัน พักไว้ก่อน
(3 รอบกำลังดีค่ะ จะช่วยลดการเกิดฟองในเค้กได้)


ในโถผสม, ใส่เนยสด (เย็นๆ) + เกลือป่น ใช้เครื่องตีด้วยความเร็วจากต่ำไปสูงจนเนื้อเนยฟูเนียน
ที่สำคัญควรทำด้วยความเร็ว ตีให้เนยฟูโดยที่ยังมีความเย็นอยู่ ระวังอย่าให้เนยเหลว


ค่อยๆใส่น้ำตาลป่น ตีส่วนผสมให้เข้ากันด้วยความเร็วสูง จนเนยกับน้ำตาลเข้ากันดี


ตีไข่ในชาม (เหมือนทำไข่เจียว) แล้วค่อยๆเทไข่ลงในอ่างผสมช้าๆ
ตีให้เข้ากันด้วยความเร็วสูง (ช่วงนี้เริ่ม warm เตาอบไว้ได้เลยค่ะ ตั้งไว้ที่ 160 C)


เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ค่อยๆใส่แป้งที่ร่อนแล้วสลับกับการใส่นมสด
ทำประมาณ 3 รอบ (แป้ง-นม-แป้ง-นม-แป้ง-นม) ใช้ตะกร้อมือคนจนส่วนผสมเข้ากันดี
(เราแอบลักไก่ ใช้เครืองช่วยตีด้วยนิดนึงตอนรอบสุดท้าย )



ความเนียนของส่วนผสมเมื่อเสร็จแล้วจะได้ประมาณนี้ค่ะ
(ถ้าหน้าตาตอนผสมเสร็จเป็นแบบนี้ รับรองว่าเค้กเนื้อเนียนแน่นอนค่ะ)


ตักใส่พิมพ์ ถ้าเป็นพิมพ์เค้กกลมจะได้ขนาด 2 ปอนด์ (อย่าลืมกรุกระดาษไข+ทาเนย)
แต่ถ้าใช้กล่องฟอยล์อย่างที่เราใช้ก็เทลงไปได้เลย ให้เทประมาณ 2/3 ของพิมพ์นะคะ
เพราะเค้กจะฟูขึ้นมาอีกนิดหน่อยค่ะ


อบด้วยไฟล่างอย่างเดียว ประมาณ 50 นาที เช็คสุกด้วยการเอาไม้จิ้มฟัน/มีดจิ้ม
ถ้าไม่มีเนื้อเค้กติดออกมาก็แสดงว่าสุกดีค่ะ

พอเค้กสุกดีแล้ว ก็เอาออกจากเตามาพักให้เย็น แล้วปิดฝาให้สนิท (ถ้าใช้พิมพ์กลม
ก็เอาออกจากพิมพ์ ทิ้งให้เย็น แล้วห่อด้วยฟิล์มพลาสติกให้มิดชิด แช่ตู้เย็นประมาณ
6 ชั่วโมงจะได้รสอร่อยยิ่งขึ้น ถ้าอยากให้ได้รสเข้มข้นจริงๆ เจ้าของสูตรแนะนำว่าให้
แช่ช่องฟรีสไว้สัก 2 สัปดาห์ แล้วค่อยนำมาตัดแบ่งรับประทานค่ะ

วิธีการทำสปองค์เค้ก

เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาผมได้รับเมล์จากแฟนบล็อกรายหนึ่งซึ่งเป็นชาวไทยในอเมริกา แฟนบล็อกรายนี้ได้สอบถามผมเรื่องวิธีการทำเค้กและพร้อมกับขอสูตรเค้กรวมถึงเคล็ดลับการทำเค้กให้ได้ผล ผมเองได้รับปากเธอไปว่าจะจัดให้ ตอนแรกคิดจะตอบเมล์ไปแต่...คิดไปคิดมา เออ...เอามาลงในบล็อกเราดีกว่า เพราะจะได้เป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจด้วยอีกทั้งประหยัดมุกไปอีกหนึ่งเอ็นทรี่ เพราะไม่ต้องนึกว่าจะเขียนอะไร ก็คงต้องขอบคุณแฟนบล็อกจากแดนไกลท่านนี้ด้วยครับ ที่ทำให้ผมมีไอเดียมาอัพบล็อกในครั้งนี้
     ตามที่เธอขอสูตรก็คือ สูตรบัตเตอร์เค้กและสูตรสปองค์เค้ก ผมเลือกเอาสูตรและวิธีทำสปองค์มาลงบล็อกครับ เพราะว่าเป็นเค้กที่จัดว่าต้องใช้ฝีมือและเทคนิคพอสมควร อีกทั้งในการทำแต่ละครั้งอาจจะได้ผลออกมาไม่เท่ากัน มาดูกันครับว่ามันยากตรงไหน
สปองค์เค้กเป็นเนื้อเค้กพื้นฐานที่นิยมมาทำเค้กตกแต่งแบบอื่นๆมากมายครับ
   สปองค์เค้ก Sponge cake หรือเค้กฟองน้ำ หรือที่ภาษาเบเกอรี่เรียกว่า เยนัว สปองค์ Genoise sponge เป็นเค้กไข่ ที่อาศัยการกักอากาศของไข่ไก่เป็นตัวทำให้ขึ้นฟูครับ จึงไม่มีผงฟูหรือผงโซดามาเป็นตัวช่วยให้ขึ้นฟู สูตรดั้งเดิมนั้นจะมีแค่ ไข่ไก่, น้ำตาล, แป้งเค้ก และเนยละลาย ลักษณะของเค้กเมื่ออบสุกแล้วก็คือ จะมีเนื้อโปร่งพรุน ร่วน คล้ายฟองน้ำ น้ำหนักเบา ทิ้งไว้ซักพักจะแข็งขึ้น แต่ปัจจุบันสปองค์เค้กที่มีขายตามร้านเบเกอรี่ทั่วไป จะนิยมใส่สารเสริมคุณภาพประเภท Emulsifier ซึ่งเป็นสารทีทำให้โปรตีนรวมตัวกับไขมันได้ดีขึ้นลงไป(มีชื่อทางการค้าว่า SP และ Ovalette ) มีผลให้เค้กมีเนื้อที่นุ่มขึ้น เนื้อละเอียด ฟองอากาศในเนื้อเค้กก็เล็กลง เนื้อไม่ร่วนซุย ทำให้ถูกปากผู้บริโภคชาวไทย ในบทนี้ผมจะไม่กล่าวถึงการทำสปองค์เค้กแบบใส่สารเสริมครับ เพราะตั้งใจจะแนะนำวิธีการทำแบบดั้งเดิมก่อน เผื่อไว้ในกรณีที่บางท่านไม่สามารถหาสารเสริมเหล่านั้นได้ ก็สามารถทำสปองค์เค้กได้ครับ 
   สูตรนี้จะเป็นเค้กขนาด 3 ปอนด์ 1 ลูก หรือใช้พิมพ์เค้กกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 1/2 นิ้ว ถึง 9 นิ้ว ผมจะให้ไว้สองสูตรนะครับ ชอบแบบไหนก็ลองทำกันดูครับ มาดูสูตรแรกก่อนนะครับ 
 สปองค์เค้กสูตร 1 
    ไข่ไก่ 280 กรัม ( ประมาณ 5 ฟองครับ ตอกไข่แล้วชั่งน้ำหนักนะครับไม่ใช่ชั่งทั้งเปลือก)    น้ำตาลทราย 180 กรัม    แป้งเค้ก ร่อนแล้ว 180กรัม   เนยสดละลาย 60 กรัม และกลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา ( หากต้องการเป็นสปองค์ช็อคโกแลต ให้ลดแป้งเค้ก 60 กรัมแล้วแทนที่ด้วยผงโกโก้ 60 กรัมนะครับ ร่อนรวมกันกับแป้งเค้กครับ )
สปองค์เค้กสูตรที่สอง สูตรนี้จะใช้ไข่ไก่มากกว่านะครับ
   ไข่ไก่ 5 ฟอง ไข่แดง 2 ฟอง น้ำตาลทราย 170 กรัม  แป้งเค้ก ร่อนแล้ว 130 กรัม        แป้งข้าวโพด 30 กรัม น้ำมันพืช 3 ช้อนโต๊ะ นมสด 3 ช้อนโต๊ะ ( เช่นกันครับ ในสูตรนี้หากต้องการเปลี่ยนเป็นรสช็อคโกแลต ก้อให้ตัดแป้งข้าวโพดออก แล้วแทนที่ด้วยผงโกโก้ในปริมาณที่เท่ากันครับ )
   เริ่มต้นด้วยการเปิดเตาอบก่อนเลยครับ ตั้งอุณหภูมิที่  180 องศาเซลเซียส ควรจะเปิดเตาให้ร้อนก่อนนะครับ ไม่ใช่ตีเค้กเสร็จแล้วมารอเตาร้อน อย่างนั้นขนมยุบแน่นอนครับ เสร็จแล้วมาเตรียมพิมพ์เค้กกัน
ให้ทาไขมันเนย จะเป็นเนยขาวหรือเนยสดก็ได้ครับ ให้ทั่วพิมพ์ทั้งก้นพิมพ์และขอบข้าง จากนั้นให้ใช้แป้งลงไปกลอกทั่วพิมพ์ ให้แป้งเคลือบเกาะติดภายในพิมพ์จนหมดนะครับ ไม่งั้นอบเค้กมาสวยๆ มาตายตอนจบคือ เคาะเค้กไม่ออก หรือไม่ก็เคาะออกมาบางส่วน เสียดายแย่เลยครับ
      นำไข่ไก่ลงไปตีพร้อมกับน้ำตาลทรายครับ ใช้หัวตีตะกร้อตีนะครับ เพื่อให้อากาศเข้าไปผสมกับไข่ไก่ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 7-15 นาที แล้วแต่กำลังของเครื่องตีครับ แต่ถ้าใช้มือตีเหรอครับ? ก็แค่ 20 นาทีเท่านั้นเอง
บางท่านอาจจะไม่สะดวกที่จะนั่งจับเวลา ก็อาศัยสังเกตเอาครับ เมื่อไข่ไก่ฟูเต็มที่แล้วจะมีลักษณะนี้ครับ ขั้นนี้เค้าเรียกว่า Ribbon Stage  ส่วนผสมจะมีลักษณะขาวข้นเป็นครีม 
ดูให้ชัดๆอีกครับ ส่วนผสมจะเปลี่ยนจากสีไข่ไก่ไปเป็นสีขาวครีม มีลักษณะข้นจนสามารถลากเป็นเส้นได้ ตรงนี้สำคัญมากครับ เพราะถ้าตีไม่ถึงจุดนี้ โอกาสเค้กยุบมีสูงมาก แต่หากตีมากเกินไปก็มีโอกาสยุบได้เช่นกัน เปรียบเหมือนลูกโป่งที่อัดอากาศเข้าไปเต็มที่แล้ว ไข่ไก่ก็เช่นกันครับเมื่อมันขยายตัวมากจนอุ้มอากาศไม่ไหวแล้วฟองอากาศที่เกิดขึ้นก็จะแตกตัวออกแล้ว ส่วนผสมจะแห้งเหมือนโฟมฉีดผม ไม่เก็บกักอากาศอีกต่อไปแล้วครับ
เมื่อได้ Ribbon Stage แล้วให้หยุดตีเลยนะครับ ให้ยกหัวตีตะกร้อออกแล้วใช้ไม้พายไม้หรือไม้พายพลาสติกในการตะล่อมแป้งลงไป
ขั้นตอนนี้ก็สำคัญครับ เทคนิคการตะล่อมแป้งหรือที่ภาษาเบเกอรี่เรียก Folding คือ ค่อยๆใส่แป้งเค้กลงไปทีละน้อย ใช้ไม้พายค่อยๆตักส่วนผสมไข่มากลบแป้ง แล้วค่อยวนไปรอบๆอ่างผสม โดยตะล่อมรอบๆแล้ว วนไปกลับไปตะล่อมตรงกลางอ่าง เพื่อให้แป้งเค้กแตกตัวออกผสมกับไข่ ตรงนี้ต้องทำอย่างเบามือครับแล้วต้องคอยสังเกตว่ายังมีเม็ดแป้งที่ยังไม่แตกตัวผสมกับไข่หรือไม่ หากยังมีเหลืออยู่ต้องทำให้เม็ดแป้งนั้นแตกตัวออก
ในขั้นตอนตะล่อมแป้ง หากเรารู้สึกว่าส่วนผสมของเราค่อนข้างแห้งก็ค่อยๆหยอดเนยละลาย หรือ นมสดผสมกับน้ำมันลงไปผสมสลับกับแป้งได้ครับ แต่ พึงระวังอุณหภูมิของเนยละลายด้วยครับ ไม่ควรจะร้อนจัด เพราะจะทำให้อากาศที่อยู่ในไข่แตกตัวออกได้ เค้กยุบอีกครับ ( โห ระวังกันทุกขั้นตอนเลยนะ...)
เมื่อเราผสมเนยละลายหรือ นมสด+น้ำมันพืชลงไปแล้ว ต้องคนให้ดีๆนะครับ อย่าให้เนยหรือนมสดไปกองอยู่ก้นอ่างล่ะ นี่ก็เป็นเหตุให้ขนมเค้กเรากลายเป็นขนมเข่งได้เช่นกันครับ จากนั้นก็เทส่วนผสมเค้กลงในพิมพ์ นำเข้าอบทันทีเลยครับ จะตั้งทิ้งไว้นานไม่ได้ครับ ยุบอีกเหมือนกัน ใช้เวลาอบ 30 นาทีพอดีครับ ลองเช็คว่าเค้กสุกดีหรือไม่ โดยใช้ไม้จิ้มฟัน ( ยังไม่ใช้แคะฟันทีนะจ๊ะ) จิ้มตรงกลางเนื้อเค้ก หากมีเศษเค้กหรือคราบเค้กแฉะติดออกมา แสดงว่ายังไม่สุก หากจิ้มแล้วไม่มีเศษเค้กติดออกมา ก็แสดงว่าสุกแล้วครับ 
ก่อนเคาะเค้กออกจากพิมพ์ให้เราเขย่าพิมพ์เล็กน้อยนะครับ เพื่อให้แน่ใจว่าเค้กไม่ติดพิมพ์ คว่ำเค้กลงบนตะแกรงลวด พักให้เย็นก่อนนำไปใช้งานต่อไป ไม่ควรทิ้งเค้กให้เย็นในพิมพ์เป็นอันขาดครับ เพราะจะทำให้เค้กของท่าน หด หด หด จนเหลือนิดเดียวแถมยังกระด้างอีกต่างหากนะครับ
ก่อนจบบทเรียนทำเค้กบทนี้ แนะนำว่าใจเย็นๆนะครับ เพราะสปองค์เค้กจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรสำหรับมือใหม่ แต่หากได้ใช้เวลาฝึกฝนสม่ำเสมอก็จะทำได้ดี ทำเสียก็อย่าเพิ่งท้อ ถือเสียว่าซื้อประสบการณ์ แรกๆอาจจะได้ขนมเข่งแทนขนมเค้ก อิอิ ใครทำแล้วประสบปัญหาอย่างไรหลังไมค์มาถามได้นะครับ ยินดีให้คำแนะนำเสมอครับ

เค้กอย่างง่ายไม่มีเตาอบก็ทำได้

ใครไม่มีเตาอบหรือหม้อหุงข้าวเชิญทางนี้เลยคะ
ใครที่เข้ามาในก้นครัวแล้วเห็นการทำเค้กต่างๆ แล้วก็อยากลองทำบ้าง
แต่ว่าไม่มีเตาอบ ถ้าจะซื้อก็ยังขาดแคลนทุนทรัพย์อยู่ ลองเอาสูตรนี้ไปทำลองดูนะคะ

แพนเค้กที่สามารถ ทำเค้กได้ไม่แพ้เตาอบเลยนะคะ

ส่วนผสม
แป้งสาลีหรือแป้งเค้ก 2 ถ้วยตวง
น้ำตาล 4 ชต.
ผงฟู 2 ชช.
เกลือ 1/2 ชช.
นมสด 2 ถ้วยตวง
ไข่ไก่ 2 ฟอง
เนยละลาย 1 ชต 

1.แป้ง น้ำตาล ผงฟู เกลือ ผสมเข้าด้วยกัน พักไว้
ตีไข่ ใส่นม ตีให้เข้ากันแล้วค่อยๆเทผสมกับส่วนผสมที่พักไว้ ผสมให้เข้ากัน 

2.ที่จริงเริ่มตั้งแต่เราผสมส่วนผสม ตั้งกะทะให้ไฟอ่อนๆนะคะ
เวลาเราผสมส่วนผสมเสร็จจะได้ไม่ต้องรอ ทาเนยในกระทะไม่ต้องเยอะนะคะ
พอกะทะร้อน ก็วางพิมตามรูปเลยคะ 

3.ลองแซะดูถ้าเค้กไม่ติดกะทะแล้วเอาพิมออกแต่ให้แซะตรงขอบพิมด้วย 

4.กลับด้านคะ 
5.มาดูเนื้อเค้กคะไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าเค้กที่อบเลย 
6.สูตรนี้จะได้สามชิ้นคะถ้าพิมเท่าขนาดที่ดิฉันทำ
แต่ขึ้นอยู่กับเราหยอดมากน้อยแค่ไหน
7.จากนั้นก็ทาแยมเลือกรสชาดแล้วแต่ชอบ
8. วิปปิ้งครีม 2 ถ้วยตวง
ตีให้เป็นครีม ปาดได้เลยคะ
9.หลังจากนั้นจัดการแต่งหน้าเลยโดย
เนยขาวหรือเนยสด 200 กรัม
น้ำเชื่อม 1 ถ้วยตวง
ตีด้วยความเร็วสูง ค่อยเทน้ำเชื่อมทีละนิดจนหมด ตีจนเนยดูเนียน
<แต่ว่าถ้าใครไม่อยากแต่งหน้าแบบนี้ก็แต่งหน้าด้วยผลไม้ก็ได้นะคะ>
ใส่สีผสมอาหารตามชอบคะ

10.ใช้หัวบีบดอกกุหลาบ และหัวบีบใบ ลืมบอกไปคะครีมที่ได้แบ่งเป็นสองส่วน 
ส่วนที่จะทำดอกให้แบ่งไว้เยอะกว่าส่วนที่จะทำใบ
จัดการตกแต่งได้เลย 

11.จัดเสริฟ




 


ที่มา http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=lerberget&month=06-03-2010&group=2&gblog=3

Menu Cake


 
ความหมายของเค้ก
เค้ก หมายถึง ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ประเภทหนึ่งที่มีเนื้อละเอียดนุ่ม รสหวาน นิยมอบให้สุกในลักษณะเป็นชิ้นใหญ่ ในรูปทรงกลม (round cake) หรือเป็นแท่งสี่เหลี่ยม (loaf cake) และอื่นๆ เมื่ออบสุกแล้วอาจมีการสอดไส้ (fillings) ระหว่างชั้น โดยแบ่งเค้กเป็น 2 ส่วน คือส่วนฐานและส่วนบน หรืออาจมีการเคลือบผิวนอกด้วยครีมชนิดต่างๆ ที่เรียกว่า icing หรือ frosting เค้กบางชนิดจะเคลือบผิวบางๆ (glaze) เพื่อให้ผิวหน้าเค้กมองดูมันวาว เพิ่มความน่าบริโภค หากจะแต่งหน้าให้สวยงามยิ่งขึ้นเพื่อให้เหมาะกับโอกาส ควรใช้ของที่บริโภคได้ในการแต่งหน้าเค้ก


“cake” มีแหล่งกำเนิดจาก Old Norse ซึ่งอยู่ใน Middle English ตั้งแต่สมัยแรกของยุคศิวิไลซ์ คนในสมัยนั้นทำเค้กเพื่อบูชาพระเจ้า และใช้เป็นอาหารของครอบครัวด้วย ส่วนชาวฝรั่งเศสเมื่อกล่าวถึง เค้ก จะหมายถึง fruit cake ทุกชนิด ส่วนคนใน Great Britain และ United States จะใช้คำว่าเค้กเรียกอาหารหวานหลายชนิดด้วยกัน ทั้ง Sponge cake , iced cake, chocolate cake และอื่นๆ เค้กจะมีคุณภาพระดับใด ขึ้นอยู่กับการเลือกคุณภาพของเครื่องปรุงที่ใช้และขึ้นอยู่กับตำรับที่เลือกใช้ ตำรับที่ปรับปริมาณเครื่องปรุงได้เหมาะสมก็จะได้เค้กที่คุณภาพดี นอกจากนี้เทคนิคต่างๆจะช่วยทำให้เค้กมีคุณภาพตรงตาม


ประเภทของเค้ก เค้กสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. เค้กเนย (butter cake) เค้กกลุ่มนี้มีไขมันเป็นเครื่องปรุงที่สำคัญ ไขมันนั้นอาจใช้เนย เนยเทียม เนยขาว อย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้ปนกันก็ได้ และอาจจะอบให้สุกเป็นแผ่น เป็นชิ้นใหญ่ หรือเป็นถ้วยก็ได้


2. เค้กไข่ (unshortened cake) เค้กกลุ่มนี้ใช้ไข่เป็นเครื่องปรุงหลัก จึงใช้ไข่ในปริมาณมาก และไม่ใช้ไขมันในส่วนผสม แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ
2.1 สปันจ์เค้ก (spong cake) เป็นเค้กที่ใช้ไข่เป็นส่วนผสมหลัก คุณภาพของไข่จะมีผลอย่างมากต่อการทำสปันจ์เค้ก เพราะเค้กชนิดนี้ขึ้นฟูด้วยไข่ ไข่ที่สดและใหม่ เมื่อนำมาตีจะมีความคงตัวกว่าไข่ที่มีลักษณะเหลวไข่ไก่ในอุณหภูมิห้องจะตีได้ปริมาณที่มากกว่าไข่ที่เย็น มีวิธีทำโดยนำส่วนผสมทุกอย่างยกเว้นเนยละลายตีรวมกันโดยเพิ่มสารเสริมคุณภาพ ตีจนส่วนผสมขึ้นฟูจึงใส่เนยละลาย

2.2 เมอแรงก์เค้ก (merinque cake) เค้กกลุ่มนี้ใช้เฉพาะไข่ขาวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น แองเจิลเค้ก


3. คอมบิเนชั่นไทป์เค้ก (combination type cake) เป็นเค้กที่คล้ายกับเค้กไข่ แต่มีส่วนผสมของไขมันที่ใช้ในรูปของน้ำมัน มีวิธีการทำก่ำกึ่งกันระหว่างเค้กเนยและเค้กไข่ เรียกว่า ชิฟฟอนเค้ก (chiffon cake) ซึ่งมีโครงสร้างที่ละเอียดเหมือน เค้กไข่ และมีเนื้อเค้กที่เงามันเหมือนเค้กเนยชิฟฟอนเค้ก หรือเค้กที่ทำโดยการแยกไข่แดง ไข่ขาว




Double Chocolate Cake



เค้กชอคโกแลต ของหวาน ๆๆ เพิ่มไขมันได้ดีจริงๆ แต่ความอร่อย ของชอคโกแลต ก็ทำให้หลายๆๆ คนยอมละหว่า 



ตัวเค้ก เป็นเค้กเนย นุ่มแบบเค้กเนย แต่งหน้า และฟิวลิ่งโดย ไวท์ชอคโกแลต และ ถั่วอัลมอล เคลือบน้ำตาล มีครบทุกรสเลยค่ะ  เข้มข้น หวานมัน หอมชอคโกแลต กรุบๆๆ ถั่วอัลมอล อยากให้เพื่อนๆๆ ได้ชิมจัง






วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาของ Cake



refresherthai cake

          Cake มีรากศัพท์มาจากภาษาของชาวไวกิ้ง (Old Norse word) ว่า "kaka"

          ประวัติเริ่มจากปี 1843 คุณอัลเฟรด เบิร์ด (Alfred Bird 1811-1878) นักเคมีชาวอังกฤษได้ค้นพบ "ผงฟู" หรือ "baking powder" ทำให้เขาสามารถทำขนมปังชนิดที่ไม่มียีสต์ให้กับภรรยาของเขา อลิซาเบธ (Elizabeth) ได้เป็นครั้งแรกเนื่องจากภรรยาของเขาเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับ ไข่ และ ยีสต์
          ในราวศตวรรษที่ 13 มีการค้นพบหลักฐานการอบขนมเค้กขั้นแอดวานซ์ที่เก่าแก่ที่สุดจากชาวอียิปต์โบราณโดยมักจะเป็นรสชาติของเค้กผลไม้ และGinger bread รูปแบบเค้กทรงกลมที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เริ่มราวกลางศตวรรษที่ 17 ในยุโรป ซึ่งเป็นช่วงที่มีพัฒนาการของเตาอบ แบบพิมพ์ขนมและน้ำตาลทราย รสชาติที่นิยมก็ยังเป็นรสผลไม้้
Cake


          ย้อนหลังจากวันนี้ไปประมาณ 60 ปี ธุรกิจขนมอบในเมืองไทยไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน จนไม่อาจเรียกว่าเป็นธุรกิจได้ ขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ ก็ไม่ได้เป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไป จะมีก็เพียงคนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับอารยธรรมตะวันตกมาก่อน และผู้ที่มีความใกล้ชิดกับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยที่รู้จักขนมอบ และมีร้านขนมอบเพียงไม่กี่ร้าน เพราะธุรกิจขนมอบในสมัยนั้นแคบมาก ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
          ต่อมาคนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เริ่มรู้จักขนมอบมากขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ประเทศไทยเริ่มเป็นที่รู้จักของประเทศต่างๆ มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจโรงแรมขยายตัว จึงต้องผลิตอาหารประเภทขนมอบชนิดต่าง ๆ ขึ้นเช่นขนมปัง เค้ก เพสตรี้เพื่อบริการลูกค้าชาวต่างประเทศที่ไม่คุ้นเคยอาหารไทย และนอกจากจะผลิตเพื่อบริการลูกค้าแล้ว โรงแรมยังมีบริการรับจัดเลี้ยงให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน โดยมีการจัดประชุมสัมมนา งานพิธีมงคลสมรส งานวันเกิด และการจัดเลี้ยงสังสรรค์ ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์ขนมอบจึงเป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้น
Cake คนไทย


          ในขณะเดียวกันก็มีร้านเบเกอรี่ที่ผลิตขนมปัง ขนมเค้ก ขนมต่าง ๆ ออกขาย ธุรกิจขนมอบเริ่มจัดว่าเป็นธุรกิจได้เมื่อสมัยสงครามเวียดนาม ประมาณ 30 กว่าปีมาแล้วประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นที่พักของทหารอเมริกัน ช่วงนั้นกิจการขนมอบเริ่มขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากความต้องการอาหารประเภทนี้สูง จนถึงกับมีผู้คิดโรงโม่แป้งสาลีขึ้นในประเทศไทย และต่อมามีโรงโม่แป้งสาลีเพิ่มขึ้นอีก 23 แห่งแต่ละโรงโม่ก็ผลิตแป้งสาลียี่ห้อต่าง ๆ ออกจำหน่ายพร้อมกับมีการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ จัดการฝึกอบรมแนะนำลูกค้าผู้ใช้แป้งสาลีและผู้ประกอบกิจการขนมอบซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถนำแป้งไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความถูกต้อง นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แป้งสาลีเป็นอย่างยิ่ง
          เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ธุรกิจขนมอบก็ยังดำเนินต่อไป และขยายตัวเพิ่มมากขึ้น คนไทยเริ่มบริโภคขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ พาย พัฟ ฯลฯ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขนมอบมากขึ้น นักธุรกิจหลายรายเริ่มมองเห็นลู่ทางในการลงทุนทำธุรกิจนี้ เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์ขนมอบเข้ามามีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น
Cake


          นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนของเอกชน ที่เปิดสอนด้านขนมอบ ได้ช่วยกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขนมอบมากขึ้น พร้อมกับมีตำราการฝึกปฏิบัติทำขนมอบ มีประชาชนให้ความสนใจมาฝึกอบรมรับความรู้ เพื่อไปประกอบเป็นอาชีพ หรือทำบริโภคเองภายในครอบครัว

          ความเป็นมาของเค้กแต่งงาน

          ในสมัยโบราณ เจ้าสาวจะไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสขนมเค้กแต่งงานเลย เนื่องจากเค้กแต่งงานในยุคเริ่มแรกนั้น ทำขึ้นเพื่อ “ปา” ใส่เจ้าสาว เค้กแต่งงานมีพัฒนาการในฐานะที่เป็นหนึ่งในบรรดาสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ที่จะขาดเสียมิได้ในพิธีแต่งงาน ในยุคที่ผ่าน ๆ มา ผู้คนจะคาดหวังว่า บุตรสืบสกุลจะติดตามมาทันทีภายหลังการแต่งงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่แน่นอนพอ ๆ กับมีกลางวันแล้วต้องมีกลางคืน
Cake แต่งงาน

          ข้าวสาลีซึ่งถือกันมานานแล้วว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง เป็นเมล็ดธัญพืชที่ใช้โปรยใส่เจ้าสาวตามพิธีการ หญิงสาวที่ยังไม่มีคู่ครองจะแย่งกันเก็บเมล็ดข้าวสาลีเพื่อเป็นเครื่องประกันว่า พวกเธอก็จะได้แต่งงานในไม่ช้า การแย่งเมล็ดข้าวสาลีนี้มีคตินิยมเช่นเดียวกับการแย่งช่อดอกไม้ของเจ้าสาวในยุคปัจจุบัน

          ช่างทำขนมชาวโรมันซึ่งมีฝีมือการอบขนมเป็นที่ยกย่องเลื่องลือ เป็นผู้เปลี่ยนแปลงประเพณีปฏิบัติดังกล่าว โดยเมื่อราว 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกช่างทำขนมได้ริเริ่มอบขนมเค้กชิ้นเล็กๆ มีรสหวาน ทำจากข้าวสาลีเพื่อใช้รับประทานในงานแต่งงานแทนที่จะใช้ “ปา” อย่างไรก็ดี แขกที่มาร่วมงานไม่ค่อยชอบใจนักที่อดสนุกกับการโปรยเมล็ดข้าวสาลีใส่เจ้าสาว จึงมักจะโยนเค้กชิ้นเล็ก ๆ นี้แทน

          กวีและปราชญ์ชาวโรมันชื่อ ลูครีเชียส บันทึกไว้ว่าพัฒนาการของการโยนขนมเค้กใส่เจ้าสาวลดความ “รุนแรง” ลงโดยเปลี่ยนเป็นการละเลงขนมลงบนศีรษะของเจ้าสาว และเพื่อสืบทอดความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์คู่บ่าวสาวต้องรับประทานส่วนของขนมที่ถูกละเลงแล้วร่วมกันด้วย
          ประเพณีปฏิบัตินี้แพร่หลายไปทั่วยุโรปตะวันตก ในประเทศอังกฤษเมื่อคู่บ่าวสาวรับประทานขนมแล้ว ต้องจิบเหล้าชนิดพิเศษซึ่งเรียกกันว่า “เหล้าเจ้าสาว” ตามด้วยพิธีโยนเค้กแต่งงานเพื่อเป็นเครื่องหมายให้คู่บ่าวสาว “มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง” นั้นเปลี่ยนแปลงไปอีกในสมัยกลางตอนต้น เมื่อเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เมล็ดข้าวสาลีดิบถูกนำกลับมาใช้โปรยใส่เจ้าสาวอีกครั้งหนึ่ง ขนมเค้กซึ่งเคยอบอย่างพิธีพิถันก็เปลี่ยนเป็นเพียงขนมปังกรอบ หรือขนมปังก้อนเล็ก ๆ ชนิดนุ่มรสหวานที่เรียกว่า “สคอน” (scone) เพื่อรับประทานร่วมกันในงานแต่งงาน แขกที่มาร่วมงานก็จะอบขนมกันมาเอง ส่วนที่เหลือจะนำไปแจกจ่ายให้คนยากจน ประเพณีปฏิบัติที่ประหยัดเรียบง่ายนี้เอง เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยความช่างประดิษฐ์ประกอบกับการดูแคลนทุกสิ่งที่เป็นอังกฤษของชาวฝรั่งเศส กลับเป็นที่มาของเค้กแต่งงานเป็นชั้น ๆ ซึ่งหรูที่สุด




Cake     Scone

          ตำนานเล่าว่า ทั่วทุกแห่งในเกาะอังกฤษจะถือเป็นธรรมเนียมที่จะนำขนมปังกรอบ และสคอน ซึ่งแขกนำมาช่วยงานวางซ้อน ๆ กันเป็นกองใหญ่มหึมายิ่งกองสูงเท่าใดยิ่งดี เพราะถือกันว่าความสูงของกองขนมชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของคู่สมรสในอนาคต และเป็นธรรมเนียมอีกว่า เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องแลกจุมพิตกันบนกองขนม
          ในช่วงค.ศ. 1660-1669 ระหว่างสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พ่อครัวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ได้ไปเที่ยวกรุงลอนดอนและเห็นพิธีการ “กองเค้ก” พ่อครัวคนนี้รู้สึกใจหายใจคว่ำกับลักษณะที่คนอังกฤษเรียงขนมเค้กซ้อน ๆ กันและบ่อยครั้งที่กองขนมพังครืนลงมา เขาจึงได้ความคิดที่จะทำขนมเค้กก้อนใหญ่เป็นชั้น ๆ เคลือบด้วยน้ำตาลไอซิง ซึ่งให้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจเหมาะกับพิธีแต่งงาน มากกว่ากองภูเขาขนมปังกรอบที่แสนจะธรรมดา หนังสือพิมพ์อังกฤษในสมัยนั้นพากันประสานเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายของชาวฝรั่งเศส
          แต่ปรากฏว่าก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษที่ 17 ช่างทำขนมชาวอังกฤษก็พร้อมใจกันทำขนมเค้กแต่งงานก้อนมหึมาเป็นชั้น ๆ บริการให้แก่บรรดาลูกค้าของพวกเขา เค้กแต่งงานโดยส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่ มีรูปร่างเป็นชั้นๆเรียงกันขึ้นไป และมีการตกแต่งอย่างสวยสดงดงามด้วยครีมและน้ำตาลแต่งหน้าเค้ก ซึ่งในบางครั้งอาจมีการนำอัลมอนด์มาเป็นส่วนผสมในการทำ โดยส่วนยอดของขนมเค้กนั้นมักประดับด้วยตุ๊กตาแทนตัวบ่าวสาว หรือในบางความคิดอาจใช้เป็นรูปนก รูปแหวนทอง หรือรูปเกือกม้า ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี และความเจริญรุ่งเรืองสำหรับคู่บ่าวสาว ซึ่งลักษณะของเค้กแต่งงานที่ดีจะต้องมีเนื้อแน่นสามารถรับน้ำหนักของชั้นเค้กที่ตกแต่งอย่างสวยงามได้และที่สำคัญยังต้องรับประทานได้และอร่อยอีกด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยทักษะ ฝีมือความคิดสร้างสรรค์และความปราณีตเป็นอย่างมากจากพ่อครัว หรือผู้ทำขนม
Wedding Cake

          ส่วนประเพณีการตัดเค้กนั้น โดยส่วนใหญ่เจ้าสาวจะต้องเป็นคนตัดเค้กเอง โดยที่เจ้าบ่าวมีหน้าที่แค่คอยช่วยเหลือ ซึ่งในประเพณีโบราณ ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องตัดเค้กแล้วนำขนมเค้กที่ตัดแล้วไปมอบให้แก่บุคคลต่างๆ ในครอบครัวของเจ้าบ่าวเพื่อแสดงความเคารพ และแสดงให้เห็นว่าเธอกำลังจะก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวเจ้าบ่าวนับจากนี้เป็นต้นไป อีกทั้งยังมีประเพณีที่ให้คู่บ่าวสาวป้อนเค้กให้กันและกัน คือการสื่อความหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องสร้างครอบครัวใหม่ด้วยกัน และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่จะต้องดูแลกันและกันตลอดไป หลังตัดเค้กเป็นชิ้นๆแล้วฝ่ายบ่าวสาวก็จะแบ่งเค้กเหล่านั้นให้กับผู้ที่มาร่วมพิธีได้รับประทานกันซึ่งอาจจะรับประทานเลยหรือนำกลับบ้านไปฝากบุคคลที่ไม่ได้มาร่วมงานก็อาจเป็นได้ ซึ่งในประเพณีโบราณเชื่อว่า หากเพื่อนเจ้าสาวคนไหนอยากฝันเห็นเนื้อคู่ของคนในอนาคต ให้นำเค้กแต่งงานไปไว้ใต้หมอนหรือข้างหมอนแล้วนอนหลับ สาวคนนั้นจะฝันเห็นคู่ชีวิตของตน

          หลังจากวันแต่งงานของคู่บ่าวสาวในยุโรปนิยมเก็บเค้กชั้นบนสุดไว้แล้วนำออกมารับประทานใหม่ในวันครบรอบแต่งงานหนึ่งปีและการฉลองอีกครั้งก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการให้กำเนิดเจ้าตัวน้อย เพราะเหตุนี้เค้กบางส่วนในพิธีแต่งงานอาจจะถูกเก็บไว้กินเพื่อฉลองในวันครบรอบแต่งงานของบ่าวสาวในปีถัดๆ ไปใช้ฉลองในวันที่คลอดลูกคนแรกแต่โดยส่วนใหญ่จะใช้ในพิธีตั้งชื่อบุตรตามหลักศริสต์ศาสนา ซึ่งจะเก็บรักษาเค้กด้วยการนำเข้าช่องแช่แข็งเอาไว้ ส่วนใหญ่จะเก็บชั้นบนสุดของเค้กที่มักจะตกแต่งด้วยผลไม้ซึ่งสามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้เป็นระยะเวลานานด้วยการแช่แข็ง (ในสมัยก่อนวิธีการรักษาเค้กให้เก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานานๆ ก็คือการใช้น้ำตาลในปริมาณมากๆ เป็นส่วนผสมในการทำและแต่งหน้าเค้ก เพื่อเพิ่มความหนาแน่นและลดช่องว่างไม่ให้อากาศเข้าไปในเนื้อเค้ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เค้กหมดอายุหรือเสียเร็วขึ้น)
          ความหมายของเค้กสีขาว
White Cake

          เค้กมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับเจ้าสาว เนื่องจากโดยส่วนใหญ่สีของเค้กจะเหมือนหรือเข้ากับสีชุดของเจ้าสาวด้วย หากย้อนไปดูในสมัยวิคตอเรีย เค้กที่ใช้ในพิธีแต่งงานก็เป็นสีขาวแต่ไม่ใช่เป็นเพราะความเชื่อ แต่เพราะการทำขนมเค้กเป็นสีต่างๆ ในสมัยก่อนนั้นทำได้ยากเนื่องจากส่วนผสมทุกอย่างเป็นสีขาวหมด แต่ถึงกระนั้นในความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ขนมเค้กแต่งงานต้องเป็นสีขาว เนื่องจากสีขาวสื่อถึงความรักที่บริสุทธิ์ และความเชื่อที่ว่าเค้กสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่มั่นคงก็ยังคงเชื่อถือกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
          โดยสรุปแล้ว “เค้กแต่งงาน” เป็นขนมหวานที่นิยมใช้เลี้ยงแขกเป็นสิ่งแรกหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานของคู่บ่าวสาว เป็นตัวแทนแห่ง ความรักและความสุขอีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ของคู่บ่าวสาว ที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันให้ตลอดรอดฝั่ง